สุโก้ย Marketing ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น
สุโก้ย Marketing ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น
คงเหลือ | รอคิว | รอ/วัน |
---|---|---|
1/1 | 0 | 0 |
- ประเภท : อีบุ๊ก
- สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน
- Author : เกตุวดี Marumura
- ISBN :978-974-02-1352-9
- ภาษา : thai
- จำนวนหน้า : 202
- ขนาดไฟล์ : 17.27 MB
“การตลาด” ฉบับอ่านสนุกที่ตอบข้อสงสัยในใจได้ว่า “ทำไมนะ ใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น??” และเมื่ออ่านแล้วต้องร้อง “สุโก้ย!!” ออกมาไม่หยุด
“ อยากอ่านเรื่องเล่าสนุก ๆ ปลุกแรงบันดาลใจดี ๆ? หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมเรื่องเล่าสนุก ๆ เกี่ยวกับการตลาดของญี่ปุ่นประกอบภาพสีสันสดใส เขียนโดยอาจารย์ด้านการตลาดผู้จบปริญญาตรี โท และ เอก จากญี่ปุ่น ที่เป็นที่รู้จักกันดีจากบล็อก “เกตุวดี Marumura” ค่ะ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการตลาด เรื่องญี่ปุ่น หรือเพียงอยากได้แรงบันดาลใจดี ๆ และถึงแม้คุณจะรู้เรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นดีอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้ซึ่งเขียนขึ้นด้วยอารมณ์ขันก็การันตีที่จะนำรอยยิ้มมาให้คุณค่ะ ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
=น่าสนใจจากในเล่ม=
* ชาวญี่ปุ่นคลั่งไคล้และคุ้นเคยกับของน่ารัก ๆ แม้แต่ป้ายบอกทางก็ยังอุตส่าห์บรรจงทำออกมาให้แสนน่ารัก (ในเล่มมีตัวอย่างหลายภาพ)
* ธนาคารแห่งชาติของญี่ปุ่นได้คำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเจ้าหมีดำ Kumamon ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนที่ทำหน้าที่ PR ให้จังหวัดคุมาโมโต้ว่า สามารถสร้างผลทางเศรษฐกิจให้ทางจังหวัดได้ถึง 1.2 ล้านล้านเยนระหว่างปี 2011-2013
* หลักการสร้างและนำตัวการ์ตูนมาใช้ในธุรกิจของคนญี่ปุ่น คือ 1) ลายเส้นเรียบง่าย 2) ใส่จิตวิญญาณและความเป็นคนเข้าไป 3) เล่าเรื่องราว และ 4) ทำอย่างต่อเนื่อง
* “ยาเสน่ห์” หรือ การตลาดของญี่ปุ่นที่ทำให้นักท่องเที่ยวติดใจอยากกลับไปอีกคือ 1) สร้างของดังประจำเมือง 2) ลงทุนจ้างดีไซเนอร์มืออาชีพมาออกแบบของที่ระลึกหลังจากทำการวิจัยมาอย่างดี 3) การจัดกิจกรรมดี ๆ เช่น ทำตราประทับ ณ จุดต่าง ๆ ของเมือง 4) มีการ “คุม theme” ของดังประจำเมืองในทุก ๆ สิ่งตั้งแต่ป้ายบอกทางไปจนของที่ขายในร้านที่ระลึก
* ร้านค้าในย่านเดียวกันแทนที่จะแข่งขันกันกลับร่วมมือร่วมใจปรึกษาหารือทำแคมเปญในเทศกาลต่าง ๆ ด้วยกัน หรือหาทางนำวัตถุดิบที่เป็นจุดเด่นของเมืองมาพัฒนาสินค้าด้วยกัน
* เช่น เกียวโตดังเรื่องชาเขียว ร้านอาหารก็จะขายโซบะชาเขียว ร้านขนมก็จะขายโมจิชาเขียว ร้านใบชาก็เสนอตัวนำเครื่องคั่วใบชามาตั้งคั่วสด ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้กลิ่นหอมสด ๆ ของใบชาคั่ว สินค้าของเมืองเลยออกไปในทางเดียวกัน แต่สร้างสรรค์ต่างกัน ไม่ได้ลอกกันหมด
* คนญี่ปุ่นมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก หนังสือที่พวกเขาอ่านในที่สาธารณะ เช่น รถไฟ จะห่อปกเสมอเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ว่ากำลังอ่านอะไร ร้านหนังสือก็ถือโอกาสโปรโมทร้านไปในตัวผ่านกระดาษห่อปกหนังสือ
* สาวญี่ปุ่นมักจะอายเวลาต้องซื้อเค้กชิ้นเดียว หรือซื้อข้าวกล่อง (เบนโตะ) ที่ร้านสะดวกซื้อในคืนวันคริสต์มาส เพราะเกรงว่าจะโดนมองว่าเป็นสาวโสด ไม่มีใคร
* ดิสนีย์แลนด์โตเกียวใส่ใจอย่างสุด ๆ ที่จะทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกว่าอยู่ในโลกแห่งความฝันจริง ๆ โดยจะขจัดสิ่งที่ทำให้นึกถึงโลกแห่งความเป็นจริงออกไปให้มากที่สุด เช่น จะไม่เห็นตึกออฟฟิศ(ที่ทำให้นึกถึงงาน) นอกจากนี้ยังหากระจกห้องน้ำ นาฬิกา และเศษขยะได้ยากมากอีกด้วย
* ร้านสะดวกซื้อ 3 อันดับแรกของญี่ปุ่นมีนโยบายการตลาดต่างกัน เช่น 7-11 เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มลูกค้ากับของที่ซื้อ, มีกลยุทธที่ไม่เหมือนใครเรื่องการขยายสาขา และมีสินค้า Limited Edition
ส่วน Lawson เน้นสร้างสรรค์ร้านใน theme ต่าง ๆ ออกมา เช่น Natural Lawson เป็น theme ธรรมชาติเน้นสุขภาพผู้บริโภค Lawson Store 100 ขายของทุกชิ้นในราคา 100 เยน ในขณะที่ Family Mart เน้นจับมือกับพันธมิตร เช่น Muji และ Tsutaya
* ร้านอาหารที่ญี่ปุ่นเน้นอาหารเฉพาะด้านและใช้วิธีจัดเซ็ตเมนูให้ลูกค้าเลือกทานง่าย ได้เพลิดเพลินกับความหลากหลายในเซ็ตที่มีกับข้าวอย่างละนิดหน่อย นอกจากนี้การจัดเซ็ตเมนูก็ทำให้ตัวร้านเองได้เพิ่มประสิทธิภาพในการสั่งวัตถุดิบ บริการได้รวดเร็ว เก็บกวาดโต๊ะง่ายเพื่อรอรับลูกค้าใหม่ได้เร็วขึ้น
* ชาวญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อนละเมียดละไมกับฤดูกาลมาก ซึ่งสะท้อนมาในทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสีสันและลักษณะของเสื้อผ้า อาหาร สินค้า ภาษาที่ใช้ในจดหมายทักทายประจำฤดูกาล ไปจนถึงตั๋วเข้าชมวัดซึ่งจะเปลี่ยนภาพไปตามฤดูกาลว่าวัดนั้นดูเป็นอย่างไรในสภาพสิ่งแวดล้อมแต่ละฤดู
* มูจิเป็นแบรนด์ที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ดีไซน์แต่ละชิ้นผ่านการทำการบ้านมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนคาดไม่ถึงและเน้นรับฟังผู้บริโภคโดยการเปิดเว็บไซต์เป็นชุมชนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ในฝันของตนเอง
* การร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันและกัน การเห็นประโยชน์ของคนอื่นและสังคมมาก่อนตัวเอง การทำงานเป็นทีมตามที่ผู้เขียนได้เล่าถึงในเล่มเป็นคุณสมบัติเด่นของญี่ปุ่นที่ผู้เขียนอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
สารบัญ
1. กลยุทธ์การใช้ตัวการ์ตูนกระเเทกใจคน
2. ทำไมใครๆ ก็อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น (อีก)
3. การตลาดเพลงญี่ปุ่น AKB48, Kyary Pamyu Pamyu, Miku
4. คนญี่ปุ่นผู้หวงความเป็นส่วนตัว
5. ร้านอาหารที่สาวญี่ปุ่นกล้า/ไม่กล้าเข้า
6. หยุดเวลาคุณไว้ที่ดิสนีย์เเลนด์ ดินเเดนในฝัน
7. เเกะรอยกลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น
8. ตั๋วรถไฟไม่ธรรมดา
9. สั่งอาหารแบบไม่ต้องคิดมาก
10. คนญี่ปุ่น...ผู้คลั่งไคล้ในฤดูกาล
ฯลฯ